หากจะกล่าวถึงโรคภัยของคนวัยทำงานที่กำลังฮอตฮิตที่สุดในขณะนี้ ก็คงหนีไม่พ้น ‘โรคออฟฟิศซินโดรม’ เนื่องจากเป็นโรคที่มากับไลฟ์สไตล์ของมนุษย์ยุคใหม่ที่ใช้ชีวิตกับเทคโนโลยีต่างๆ เป็นปัจจัยที่ 5 ยิ่งการ work from home เดินทางมาถึง ก็เชื่อเหลือเกินว่าคนทำงานอย่างเราๆ ก็น่าจะเคยผ่านประสบการณ์ปวดหลัง ปวดไหล่ สะบักจม ข้อมืออักเสบ ปวดต้นคอ ตาล้า และอื่นๆ กันมาบ้างไม่มากก็น้อย

โรคออฟฟิศซินโดรม

โรคออฟฟิศซินโดรม ปัญหากวนใจวัยทำงาน

ออฟฟิศซินโดรม ถือเป็นปัญหาที่กวนใจ และเป็นโรคที่น่ากลัวของคนวัยทำงาน ซึ่งมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การนั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ โดยไม่ได้เปลี่ยนอิริยาบถ ซึ่งเป็นการใช้กล้ามเนื้อมัดเดิมซ้ำๆ ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานาน จนส่งผลทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อักเสบตามร่างกายในบริเวณต่างๆ โดยเฉพาะบริเวณคอ หลัง บ่า ไหล่ แขน หรือแม้แต่ข้อต่ออย่างข้อมือ ข้อศอก เข่า ถือเป็นหนึ่งสัญญาณของการเป็นออฟฟิศซินโดรม 

นอกจากนี้ ปัจจัยทางอื่นๆ ก็มีผลต่อการเป็นออฟฟิศซินโดรม อาทิเช่น ความเครียดจากการทำงาน การพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือการได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน เป็นต้น ในช่วงแรกอาการที่แสดงออกมาอาจเป็นอาการเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่หากปล่อยทิ้งไว้นานโดยไม่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม อาจส่งผลให้อาการลุกลามจนเป็นอาการปวดเรื้อรังได้

กลุ่มเสี่ยงกับอาการออฟฟิศซินโดรม

จากเดิมออฟฟิศซินโดรม มักจะเกิดขึ้นในคนทำงานที่อยู่ในวัย 30-40 ปี แต่ปัจจุบันการทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ ไม่ได้จำกัดแค่พนักงานออฟฟิศหรือคนทำงานทั่วไป คนรุ่นใหม่ต่างต้องใช้คอมพิวเตอร์ในการศึกษาตั้งแต่อายุยังน้อย ทำให้ออฟฟิศซินโดรมเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ในวัย 20 ปีหรือน้อยกว่านั้น รวมถึงผู้สูงอายุที่ปัจจุบันหันมาใช้เทคโนโลยีต่างๆมากขึ้นเช่นกัน ทำให้กลุ่มเสี่ยงของโรคออฟฟิศซินโดรมจึงไม่ได้จำกัดแค่วัยทำงานอีกต่อไป

อาการแบบไหนที่เข้าข่าย โรคออฟฟิศซินโดรม

  • เกิดการปวดกล้ามเนื้อเฉพาะส่วน โดยคุณไม่สามารถระบุตำแหน่งได้อย่างชัดเจน ตรงบริเวณคอ บ่า ไหล่ และสะบัก
  • มีอาการปวดวิงเวียนศีรษะเรื้อรัง หรือในบางคนอาจมีอาการปวดหัวไมเกรนร่วมด้วย ซึ่งสาเหตุเกิดจากความเครียด และการใช้สายตาจดจ่อบนหน้าจอคอมพิวเตอร์มากเกินไปเป็นระยะเวลานาน
  • ปวดหลัง เนื่องจากต้องนั่งทำงานอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์ติดต่อกันนานหลายชั่วโมง อีกทั้งวิธีท่านั่งก็ไม่ถูกสรีระซะทีเดียว โดยผู้มีอาการมักนั่งหลังค่อม ซึ่งส่งผลให้กล้ามเนื้อต้นคอเมื่อยล้าและยึดเกร็งอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ยังรวมไปถึงผู้หญิงที่ใส่ส้นสูงยืนทำงานในออฟฟิศเป็นเวลานาน ก็อาจทำให้มีอาการปวดหลังจากโรคออฟฟิศซินโดรมได้เช่นเดียวกัน
  • มีอาการปวดหรือเกิดเหน็บชาบริเวณขาลงมา ซึ่งสาเหตุมาจากการนั่งในท่าเดิมๆเป็นเวลานาน จนทำให้เส้นเลือดดำถูกกดทับ และการไหลเวียนของเลือดมีความผิดปกติ
  • ตาล้าพร่ามัว เนื่องจากการที่ต้องใช้สายตาจ้องมองหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน
  • มีอาการมือชา นิ้วล็อค และปวดข้อมือ โดยสาเหตุมาจากการจับเมาส์ในท่าเดิมๆเป็นเวลานาน ส่งผลให้กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น หรือปลอกหุ้มเส้นเอ็นบริเวณมือหรือนิ้วมือ (De Quervain’s disease) อักเสบได้ นอกจากนี้ยังสามารถทำให้เกิดอาการมือชา จากภาวะพังผืดกดทับเส้นประสาทมีเดียนได้อีกด้วย (CTS / Carpal Tunnel Syndrome)

ออฟฟิศซินโดรม หายได้หากรักษาตรงจุด

เมื่อทราบสาเหตุที่แน่ชัดแล้ว การรักษาจะสามารถออกแบบให้ตรงจุดได้ เช่น การปรับท่านั่งทำงาน การออกกำลังกายเฉพาะจุด การนวดเพื่อคลายกล้ามเนื้อ หรือการทำกายภาพบำบัด ในกรณีที่จำเป็น อาจมีการใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการ

การรักษาโรคออฟฟิศซินโดรมจะได้ผลดี เมื่อมีการวินิจฉัยที่เหมาะสม การรู้ถึงสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด จะช่วยให้การรักษาเป็นไปอย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพ ดังนั้น หากคุณเริ่มมีอาการปวดเมื่อยเรื้อรัง อย่ารอช้าที่จะพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง เพื่อสุขภาพที่ดีในระยะยาว

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *